Startup คืออะไร

รูปแบบการทำธุรกิจแบบหนึ่ง ที่มองตัวเองว่ากำลังอยู่ในช่วง “เริ่มต้น” (Start Up) เท่านั้น

แนวคิดของ Startup

จุดประสงค์ของการทำ Startup คือต้องการ “เริ่มต้นทำธุรกิจ” โดยผู้ที่ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรหรือยังไม่แน่ใจว่าไอเดียธุรกิจของตัวเองจะทำได้จริงหรือไม่ โดยการดำเนินงานของ Startup จะเป็นไปในรูปแบบของการลองผิดลองถูกให้มากที่สุดเพื่อให้เจอรูปแบบธุรกิจที่ดีพอสำหรับตัวเองโดยเร็วที่สุด

ต้องเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นำเท่านั้นหรือไม่

ไม่ใช่ รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ปรับปรุงธุรกิจ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่คอมพิวเตอร์หรือการทำซอฟต์แวร์

ตัวอย่างลักษณะของการทำ Startup

เริ่มต้นจากไอเดีย

  • นาย F ต้องการจะตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร โดยนาย F มีความตั้งใจว่าจะทำร้านอาหารตามสั่งแบบนั่งทานในร้านที่มีบรรยากาศดีและจำนวนโต๊ะอย่างน้อย 100 โต๊ะ
  • แต่เมื่อ นาย F ลองคิดดูแล้ว นาย F คิดได้ว่ามีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากมายในการเริ่มต้นลงทุนเพื่อสร้างร้านอาหารตามสั่งที่ต้องการในทันที ร้านจะมีคนมานั่งทานเยอะขนาดนั้นหรือไม่, เมนูที่คิดไว้จะมีคนซื้อหรือไม่, ต้องใช้พ่อครัวและคนเสิร์ฟอาหารกี่คน,etc.

สร้าง MVP

  • นาย F จึงคิดว่าก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนสร้างร้านอาหารตามสั่งที่มีบรรยากาศตามที่คิดไว้ นาย F ควรเริ่มจากร้านอาหารตามสั่งขนาดเล็กที่ “คล้าย” กับร้านอาหารตามสั่งในแบบที่คิดก่อน โดยเริ่มต้นจากจำนวนโต๊ะแค่ 5 โต๊ะเท่านั้น เราเรียกแนวคิดนี้ว่าการทำ MVP (Minimum Viable Product)

ศึกษาความล้มเหลว

  • ระหว่างที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารตามสั่งที่มีรายได้ไม่มั่นคงและน้อยกว่าที่คาดไว้มาก นาย F ได้ค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประการ
    • ค้นพบว่าลูกค้านั่งทานอาหารนานจนเสียโอกาสรับลูกค้าใหม่
    • ค้นพบว่าลูกค้าสั่งอาหารประเภทข้าวจานเดียวน้อย และมักซื้อครั้งเดียว ไม่กลับมาซื้อซ้ำอีก บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ของนาย F ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

การเตรียมเพื่อปรับเปลี่ยนและระดมทุนเพิ่ม

  • นาย F เริ่มศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อจากร้านอื่น และตัดสินใจว่าต้องการทดลองเพิ่มเมนูแฮมเบอร์เกอร์และสเต็ก เพราะได้วิเคราะห์แล้วว่าในละแวกร้านยังมีคู่แข่งอยู่น้อยและเป็นรูปแบบอาหารที่ขายดีในพื้นที่อื่นที่คล้ายกัน
  • นาย F ได้ศึกษาวิธีการทำแฮมเบอร์เกอร์และค้นพบว่าการจะทำแฮมเบอร์เกอร์ที่ดี ต้องใช้วัตถุดิบที่มีราคาสูง
  • นาย F ต้องการลบจุดอ่อนที่ไม่สามารถรับลูกค้าได้หากไม่ที่นั่ง โดยเพิ่มแผนการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าซื้อกลับบ้านได้สะดวก
  • นาย F สรุปสิ่งที่ต้องทำออกมาได้ แต่ก็ค้นพบว่าอาจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากซึ่งนาย F ไม่พร้อมที่จะลงทุนเอง จึงได้ติดต่อนาย M เพื่อขอคำปรึกษาในการทำแผนธุรกิจเพื่อระดมทุน
  • นาย F กับสร้างแผนธุรกิจขึ้นมาเพื่อขยายร้านอาหารตามสั่งให้สามารถขายแฮมเบอร์เกอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ได้ โดยมีงบประมาณทั้งการทดลองเพื่อให้ได้สูตรอาหาร การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ การตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จัก ตามคำแนะนำของนาย M
  • นางสาว V และ นาย C ได้อ่านแผนธุรกิจของนาย F แล้วคิดว่ามีโอกาสที่จะทำได้จริง จึงได้ตกลงที่จะร่วมลงทุนโดยมอบเงินลงทุนเพื่อแลกกับหุ้นส่วนของร้านอาหารนาย F

ธุรกิจสามารถทำกำไรและมีความยั่งยืนในระดับที่น่าพอใจ

  • หลังจากผ่านไป x ปี ธุรกิจของนาย F ได้กลายเป็นร้านอาหารตะวันตกขนาดใหญ่ที่สามารถห่อกลับบ้านและกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเป็นของฝากมากกว่าลูกค้าที่ร้าน แตกต่างจากเป้าหมายเดิมที่ต้องการทำร้านอาหารตามสั่ง

Startup Ecosystem

ในโลกแห่งความเป็นจริง การที่คนหนึ่งคนจะสามารถหาความรู้ที่จำเป็นมาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้อยู่รอด หรือหานักลงทุนเพื่อช่วยระดมทุนให้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุนี้หลายๆที่จึงพยายามสร้าง Ecosystem ที่ผู้ต้องการทำธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับความรู้ที่จำเป็นและแหล่งเงินทุนได้

  • Founder - ผู้ก่อตั้ง startup
  • Mentor - ผู้ให้คำปรึกษาที่มักจะเป็นผู้ที่เคยทำธุรกิจที่คล้ายกันมาก่อน
  • Investor - นักลงทุนที่พร้อมจะลงทุนกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

ทำไมนักลงทุนถึงอยากลงทุนกับ startup

มีโอกาสทำกำไรเยอะ ถ้าธุรกิจทำสำเร็จ เพราะมูลค่าของบริษัทตอนเริ่มต้นกับตอนที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยปกติแล้วจะต่างกันหลายเท่าตัวและหลายครั้งก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึง 50 - 100 เท่าตัว โดยจะลดลงเรื่อยๆตามรอบของการระดมทุน แต่โดยปกติแล้ว ถ้าลงทุนรอบแรก 1 ล้านบาทตอน startup เริ่มต้น หลังจากผ่านไปหลายปีที่ startup นั้นประสบความสำเร็จและสามารถขายหุ้นได้ มูลค่าหุ้นที่ขายได้ตอนนั้นอาจจะอยู่ที่ 50 ล้านบาท